เปรียบเทียบ 3 รุ่นเด่น! สำหรับคนเมือง CX-3, HR-V, C-HR

ตอนนี้ตัวเลือกในกลุ่มรถอเนกประสงค์ที่ย่อไซส์ลงมา ที่มีชื่อเรียกกันหลากหลายไม่ว่าจะเป็น มินิ เอสยูวี, คอมแพ็ค ครอสโอเวอร์, มินิ ครอสโอเวอร์ ฯลฯ ฟังแล้วอาจจะงงว่าสุดท้ายคืออะไรกันแน่ เอาเป็นว่าจะเรียกแบบไหนก็ไม่ผิด แต่เลือกรถให้ตรงตามการใช้งานนั้นเรื่องใหญ่กว่าเยอะ เพราะการตัดสินใจเป็นเจ้าของรถสักหนึ่งคันไม่ใช่เรื่องง่าย แล้วยังต้องอยู่ด้วยกันอย่างน้อยๆ 5-7 ปี วันนี้ AutolikeTV จึงจับ 3 รุ่นเด่นที่เหมาะสำหรับไลฟ์ไสตล์คนในเมืองมาเปรียบเทียบกันว่าแบบไหนจะคุ้มค่าที่สุด
รายละเอียด/รุ่น | Mazda CX-3 | Honda HR-V | Toyota C-HR |
เครื่องยนต์ | เบนซิน Skyactiv-G 2.0 / ดีเซล Skyactiv-D 1.5 | SOHC i-VTEC หัวฉีดมัลติพอยท์ PGM-FI ขนาด 1.8 ลิตร | Hybrid / เบนซิน ขนาด 1.8 ลิตร |
แรงม้า/รอบต่อนาที | เบนซิน 156/6,000 , ดีเซล 105,4,000 | 141/6,500 | Hybrid 98/5,200 + มอเตอร์ไฟฟ้า 122 แรงม้า
เบนซิน 140/6,000 |
แรงบิด/รอบต่อนาที | เบนซิน 204/2,800, ดีเซล 270/1,600-2,500 | 172/4,300 | Hybrid 142/3,600 + มอเตอร์ไฟฟ้า 163 nm.
เบนซิน 175/4,000 |
ระบบเกียร์ | Skyactiv-Drive 6 speed พร้อม Manual Mode Activematic | CVT พร้อมระบบ Shifting Control of Cornering Gravity&G Design Shift | E-CVT พร้อม Shift Lock (Hybrid), Super CVT-i7 Speed พร้อม sequential Shift และ Shift Lock (เบนซิน) |
รัศมีวงเลี้ยว ม. | 5.3 | 5.3 | 5.2 |
ขนาดยาง | 185/60 R18 | 215/55 R17 | 215/60 R17 |
ขนาดตัวถัง
ความยาวxความกว้างxความสูง มม. |
4,275 x 1,765 x 1,535 | 4,294 x 1,772 x 1,605 |
4,360 x 1,795 x 1,565
|
ระยะฐานล้อ มม. | 2,570 | 2,610 | 2,640 |
ระยะห่างล้อ หน้า/หลัง มม. | 1,525/1,520 | 1,535/1,540 | 1,550/1,570 |
ระยะต่ำสุดจากพื้น มม. | 160 | 170 | 154 |
น้ำหนักตัวรถ กก. | เบนซิน 1,303, ดีเซล 1,335 | 1,250 (E), 1,259 (EL), 1,297 (RS) | Hybrid 1,455, 1,8 Mid 1,385, 1.8 Entry 1,380 |
ระบบช่วงล่าง | หน้า อิสระแม็คเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง
หลัง กึ่งอิสระทอร์ชันบีม |
หน้า อิสระแม็คเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง
หลัง ทอร์ชั่นบีมแบบ H-Shape |
หน้า อิสระแม็คเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง
หลัง อิสระแบบปีกนกคู่ พร้อมเหล็กกันโคลง |
ระบบพวงมาลัย | แร็คแอนด์พิเนียน พร้อมพาวเวอร์ผ่อนแรงแบบไฟฟ้า EPAS | แร็คแอนด์พิเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฟฟ้า EPS | พวงมาลัยพาวเวอร์ไฟฟ้า EPS |
ระบบเบรค | หน้า ดิสก์เบรก พร้อมครีบระบายความร้อน
หลัง ดิสก์เบรก |
หน้า ดิสก์เบรกแบบมีช่องระบายความร้อน
หลัง ดิสก์เบรก |
หน้า ดิสก์เบรก พร้อมครีบระบายความร้อน
หลัง ดิสก์เบรก |
ความจุถังน้ำมัน/ลิตร | 48 | 50 | 43 (Hybrid) / 50 (1.8) |
ราคาและรุ่นที่จำหน่าย
รุ่น | ราคา |
Mazda CX-3 | รุ่น 2.0 E เครื่องยนต์สกายแอคทีฟ-จี ขนาด 2.0 ลิตร ราคา 879,000 บาท
รุ่น 2.0 C เครื่องยนต์สกายแอคทีฟ-จี ขนาด 2.0 ลิตร ราคา 955,000 บาท รุ่น 2.0 S เครื่องยนต์สกายแอคทีฟ-จี ขนาด 2.0 ลิตร ราคา 1,029,000 บาท รุ่น 2.0 SP เครื่องยนต์สกายแอคทีฟ-จี ขนาด 2.0 ลิตร ราคา 1,083,000 บาท รุ่น 1.5 XDL เครื่องยนต์คลีนดีเซลสกายแอคทีฟ-ดี ขนาด 1.5 ลิตร ราคา 1,189,000 บาท
|
Honda HR-V | รุ่น RS ราคา 1,119,000 บาท
รุ่น EL ราคา 1,059,000 บาท รุ่น E ราคา 949,000 บาท |
Toyota C-HR | รุ่น HV HI ราคา 1,159,000 บาท
รุ่น HV MID ราคา 1,069,000 บาท รุ่น 1.8 MID ราคา 1,039,000 บาท รุ่น 1.8 Entry ราคา 979,000 บาท |
จุดเด่นต้องเรื่องนี้!!
Mazda CX-3 : เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบตัวถังและการตกแต่งภายในใหม่แบบที่พูดได้ว่าใหม่เกือบทั้งคัน รูปโฉมโฉบเฉี่ยวทันสมัยสไตล์มาสด้า ตามแนวคิด KODO Design (โคโดะ ดีไซน์) รูปแบบของการตกแต่งแบบอิสระไร้กฎเกณฑ์ กระจังหน้า ไฟท้าย LED และล้ออัลลอยที่ได้รับการออกแบบใหม่ รวมไปถึงสีภายนอกใหม่ที่ทำให้การออกแบบภายนอกมีความสง่างามสะดุดตาอย่างวิจิตรบรรจง โดยเฉพาะภายในห้องโดยสารที่เลือกใช้วัสดุที่ดูพรีเมียม เน้นฟังก์ชั่นการใช้งานโดยมีผู้ขับขี่เป็นศูนย์กลาง ปรับในส่วนของเกียร์ให้ขยับขึ้นมามากขึ้น เพิ่มเบรกมือไฟฟ้า EPB ทำให้คอนโซลกลางมีความสวยงามลงตัวต่อเนื่องกับคอนโซลหน้า
เทคโนโลยี Skyactiv (สกายแอคทีฟ) ที่ขึ้นชื่อลือชาของมาสด้าที่รวมเอาทุกสิ่งทุกอย่างรวมกันไว้ในรถคันเดียว ไม่ว่าจะเป็น Skyactiv-D เครื่องยนต์สกายแอคทีฟคลีนดีเซล, Skyactiv-G เครื่องยนต์สกายแอคทีฟเบนซิน, Skyactiv-Drive เกียร์อัตโนมัติสกายแอคทีฟ, Skyactiv-Body โครงสร้างตัวถังสกายแอคทีฟ, Skyactiv-Chassis ช่วงล่างสกายแอคทีฟ, Skyactiv-Vehicle Dynamics : G-Vectoring Control ที่โชว์ความเหนือกว่าได้อย่างน่าสนใจ แล้วยังมีตัวเลือกในรุ่นเครื่องยนต์ดีเซลมาให้อีกด้วย ตรงนี้ได้แต้มต่อไปอีกพอสมควรเลยทีเดียว ส่วนระบบความปลอดภัยจัดเต็มแบบครบทุกอย่างที่รถในยุคนี้ควรมี แม้จะเป็นตัวถังแบบคอมแพค เอสยูวี แต่ให้อารมณ์การขับที่สนุก เร้าใจ ได้อย่างประทับใจ การเซ็ทอัพช่วงล่างของ CX-3 ดีที่สุดใน 3 ตัวเลือกนี้แล้วล่ะ
Honda HR-V : รถที่ถูกเรียกว่าเป็นสปอร์ต ครอสโอเวอร์ ระดับพรีเมียม จากฮอนด้า ที่มาพร้อมกับรูปโฉมใหม่ดูโฉบเฉี่ยวมากขึ้น พร้อมด้วยความเท่ห์ในรุ่น RS ที่มากับสีแดงแพสชั่น (มุก) ซึ่งเป็นสีใหม่ที่สะกิดใจให้สะกดสายตาได้จริงๆ พูดได้ว่าเรื่องรูปโฉมสวยงามโดดเด่นไม่เป็นรองใคร แล้วยังมีพื้นที่ห้องโดยสารที่กว้างขวาง ใช้งานแบบอเนกประสงค์ได้อย่างสะดวกสบาย เบาะนั่งตอนหลังพับได้ 3 รูปแบบ รองรับการขนย้ายสัมภาระได้หลากหลายสบายๆ เป็นรถที่ตอบโจทย์การใช้งานและรองรับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ได้อย่างเต็มที่ เครื่องยนต์ขนาด 1.8 ลิตร ที่ให้ความประหยัด รองรับ E85 กับระบบความปลอดภัยครบชุด ไม่ว่าจะเป็นระบบแสดงภาพมุมอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน, ระบบเตือนและช่วยเบรกที่ความเร็วต่ำ, ระบบล็อกรถอัตโนมัติเมื่อกุญแจรีโมทอยู่ห่างจากตัวรถและมีถุงลมนิรภัยอีก 6 ตำแหน่ง ถ้าไม่ได้เป็นคนที่ขับรถเร็ว เป็นพ่อบ้านสายกิจกรรม HR-V นี่ล่ะตอบโจทย์ที่สุด
Toyota C-HR : นี่ก็เป็นอีกคันที่มีชื่อเรียกต่างออกไปเป็น ซับคอมแพคเอสยูวี ที่ชัดเจนในตัวตนตามชื่อ C-HR (Coupe High Rider) คือเป็นรถสไตล์คูเป้ที่ยกสูง (อธิบายแบบบ้านๆ มาก) นั่นทำให้รูปทรงของตัวถังแม้ว่าจะดูใหญ่โตสไตล์เอสยูวี แต่ให้อารมณ์โฉบเฉี่ยวแบบรถคูเป้ เป็นรถที่ดูสวยงามในทุกสัดส่วนตั้งแต่หัวจรดท้าย โดยเฉพาะด้านท้ายรถที่ต้องบอกว่าเป็นผู้นำในทุกเส้นทาง (เพราะคนขับตามหลังจะมองท้ายรถ C-HR เพลินจนไม่อยากแซง) อีกทั้งการออกแบบภายในห้องโดยสารที่ดูล้ำยุค พวงมาลัยถูกออกแบบใหม่ แผงคอนโซลหน้าและกลางที่สอดรับกันได้เป็นอย่างดี เป็นรถที่เหมือนหลุดออกมาจากอนาคตตามสไตล์รถต้นแบบที่หากลงไปนั่งขับแล้วจะไม่อยากลงจากรถเลยทีเดียว
แถมยังใช้เครื่องยนต์ขนาด 1.8 ลิตร ที่มีตัวเลือกในแบบเครื่องยนต์เบนซิน เกียร์ Super CVT-i7 Speed พร้อม sequential Shift และ Shift Lock และยังมีรุ่นไฮบริด พร้อมเกียร์ E-CVT Shift Lock เป็นอีกทางเลือกสำหรับไลฟ์สไตล์คนเมืองที่เน้นประหยัด แม้ว่าจะเจอกับสภาพรถติดหนักถึงหนักมาก และด้วยตัวถังขนาดใหญ่ มีความสูงจากพื้นถึงตัวถังที่น้อยที่สุดในกลุ่ม ตามด้วยอัตราเร่งและระบบช่วงล่างที่เซ็ตอัพมาเพื่อตอบสนองวัยรุ่นวันทำงานที่อยากออกไปใช้ชีวิตที่แตกต่าง ในส่วนนี้จี๊ดจ๊าดได้ใจไปอีกคะแนน
Mazda CX-3
Honda HR-V
Toyota C-HR
เรื่องเด่นน้อยหน่อย!!
Mazda CX-3 : น่าจะเป็นเรื่องเดียวที่ต้องพูดถึง แม้ว่าจะดูดีมีแต้มต่ออยู่หลายเรื่อง แต่ด้วยการออกแบบภายในห้องโดยสารที่เน้นความเป็นสปอร์ตในทุกสัดส่วนทำให้รู้สึกว่ามันแคบไปหน่อย ถึงสเปคจะต่างกับคู่แข่งเพียงแค่ไม่กี่มิลลิเมตร โดยเฉพาะเบาะหลังที่ความสบายจะน้อยไปนิด นั่งนานๆ จะเมื่อยล้าพอประมาณ
Honda HR-V : ดูเหมือนว่ารถคันนี้จะสมบูรณ์แบบและตอบโจทย์ที่สุด แต่ในเรื่องของการขับขี่ ยังเป็นจุดที่สายกด สายแรง ต้องคิดมาก เพราะด้วยการเป็นรถที่เน้นความประหยัด ในจังหวะออกตัวและอัตราเร่งดูจะเป็นรองในกลุ่มนี้ เพราะสำหรับคนใช้รถทั่วไปเมื่อขับรถที่ใช้เกียร์แบบ CVT ส่วนใหญ่จะใช้กันไม่ค่อยเป็น มักจะกดคันเร่งมากเกินไป ซึ่งไม่สัมพันธ์กับจังหวะของรอบเครื่องยนต์ ทำให้เกิดความรู้สึกว่ารถมันออกตัวได้เชื่องช้า (ทั้งที่จริงแล้วการออกตัวของ HR-V ไม่ได้ขี้เหล่ และค่อนข้างปรับจูนมาได้เหมาะสมแล้ว)
Toyota C-HR : นี่จะเป็นจุดด้วยหลักๆ สำหรับคนที่มองหารถครอบครัวที่มีสไตล์เป็นของตัวเอง (แต่สำหรับคนโสดไม่มีปัญหาเรื่องนี้) ถึงจะมีดีไซน์ที่โดดเด่น ภายในดูกว้างขวาง แต่เมื่อมองไปที่เบาะนั่งด้านหลังที่กว้างขวาง กลับอึดอัด และเสียคะแนนในทันที เพราะด้วยพื้นที่ของบานประตูด้านหลังที่ออกแบบให้มีความเป็นรถคูเป้ จึงทำให้พื้นที่ของกระจกนั้นแคบลงไปด้วย ผลที่เกิดขึ้นคือ ถ้าเป็นคนตัวเล็กๆ ลงไปนั่งจะมองไม่เห็นบรรยากาศรอบข้างเลย เพราะถูกเสา C บังมิด ถึงจะเป็นคนตัวสูง 180 ซม. ยังรู้สึกอึดอัด และไม่สนุกไปกับเบาะนั่งตอนหน้าแบบหนังคนละม้วนกันเลยทีเดียว
สรุป
การเลือกเป็นเจ้าของรถ 1 ใน 3 คันนี้ เรื่องของราคาน่าจะไม่ใช้ปัญหาสักเท่าไหร่ เพราะราคาค่อนข้างใกล้เคียงกันมาก แต่อยากให้พิจารณาถึงการใช้งาน และใครเป็นผู้ใช้รถคันนี้บ้าง หากเลือกรถเพื่อใช้งานในแบบครอบครัว เดินทางท่องเที่ยว Honda HR-V ดูจะตอบโจทย์ที่สุด แต่หากเป็นคนรุ่นใหม่ โสด และมีสไตล์เป็นของตัวเอง ชอบใช้ชีวิตแบบที่ไม่เหมือนใคร Mazda CX-3 และ Toyota C-HR จะเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างสูสีกัน ถ้าขอบความล้ำของงานออกแบบทั้งภายนอกและภายใน ต้องการรถตัวถังใหญ่ เดินทางสองคนหรือคนเดียวเป็นส่วนใหญ่ และมีทางเลือกด้วยเครื่องยนต์ไฮบริด Toyota C-HR เป็นคำตอบ แต่ถ้าชอบอารมณ์การขับขี่ที่สนุก ช่วงล่างแน่นๆ ขับรถญี่ปุ่นอารมณ์รถยุโรป ที่พ่วงด้วยเทคโนโลยีเต็มสูบ และชอบแรงบิดแบบเครื่องยนต์ดีเซลที่เหนือกว่า ต้องยกให้ Mazda CX-3
แต่ทั้งนี้ อยากให้ไปทดลองขับดูก่อน เพื่อช่วยในการตัดสินใจ ถึงแม้ว่ารูปโฉมทั้งภายนอกและภายในโดนใจไปแล้วครึ่งหนึ่ง แต่การขับขี่จริงจะเป็นสิ่งที่ยืนยันความสนุกในการใช้งานได้อย่างตรงจุดที่สุด วันนี้ AutolikeTV ขอแนะแนวทางเอาไว้ประมาณนี้ ที่เหลือคุณเป็นผู้ตัดสินใจ ขอให้สนุกกับรถที่คุณเลือกนะครับ.
ติดตามข่าวสารด้านยานยนต์ “ออโต้ไลค์ ทีวี” ได้ทาง ททบ. 5 ทุกวันจันทร์ เวลา 13.30-14.00 น.
หรือได้ทางออนไลน์ www.autoliketv.com
ทางเฟสบุ๊ค www.facebook.com/Autoliketv
และได้ทาง www.youtube.com/AutoLikeTV